ความหมาย, ความสำคัญ, และการพัฒนาจริยธรรม

หลักพื้นฐานจริยธรรม
X

ความหมายของจริยธรรม

คำว่า “จริยธรรม” แยกออกเป็น จริย + ธรรม ซึ่งคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติหรือกิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม มีความหมายหลายประการ เช่น คุณความดี, หลักคำสอนของศาสนา, หลักปฏิบัติ เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น “จริยธรรม” จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า “หลักแห่งความประพฤติ” หรือ “แนวทางของการประพฤติ”

คำว่าจริยธรรมมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าจริยศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกหลายคำ บางครั้งก็มีการนำมาใช้แทนกัน ซึ่งให้ความหมายทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจความหมายและขอบข่ายของจริยธรรมกับศัพท์เกี่ยวข้องในหลายมุมมอง ทำให้ทราบถึงทรรศนะมุมมองของผู้รู้ต่าง ๆ ที่พยายามศึกษาแนวคิดจริยธรรมในด้านที่แตกต่างกันออกไป

ความสำคัญของจริยธรรม

จริยธรรมมีความสำคัญสำหรับเป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติสำหรับตนเองและสังคมโดยรวม ซึ่งเมื่อบุคคลได้นำมาปฏิบัติแล้ว ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สุข มีความสงบและเจริญก้าวหน้า องค์การใดหรือหมู่คณะใด ได้ประพฤติปฏิบัติในหลักของจริยธรรมแล้ว ย่อมเป็นสังคมแห่งอารยะ คือ สังคมแห่งผู้เจริญอย่างแท้จริง โดยมีผู้กล่าวถึงความสำคัญของจริยธรรม ไว้ดังนี้

  1. จริยธรรม เป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรือง ความมั่นคง และความสงบสุขของประชาชน สังคม ประเทศชาติ เพราะประเทศชาติแม้จะได้รับการพัฒนาในด้านวัตถุ เทคโนโลยี ความทันสมัยของวิทยาการต่างๆ มากมายเพียงใด หากแต่ขาดจริยธรรมแล้ว การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง และเบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกัน
  2. การพัฒนาบ้านเมือง ต้องพัฒนาด้านจิตใจก่อน เพราะการพัฒนาจิตใจของคนในสังคม หมายถึง การพัฒนารากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ เมื่อรากฐานแห่งความเป็นมนุษย์ถูกเติมเต็มในจิตใจแล้ว การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการพัฒนาด้านอื่นๆ ย่อมเจริญรุดหน้าไปด้วย และถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่สร้างสรรค์
  3. จริยธรรมมิได้จำกัดความหมายอยู่ที่การถือศีล การเข้าวัดปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนาโดยไม่มุ่งทำประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้น หากแต่หมายถึง การประพฤติปฏิบัติโดยวางรากฐานความคิด ความเห็นที่ถูกต้อง การทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ เว้นสิ่งที่ควรเว้น กระทำในสิ่งที่ควรทำ ดำเนินชีวิตถูกต้องตามเหตุผล ตามกาลเทศะ ดังนั้น จริยธรรมจึงมีความจำเป็นและมีคุณค่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่คนในสังคม
  4. จริยธรรม เป็นเครื่องควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมให้เกิดการยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น จริยธรรมจะเป็นเครื่องมือหล่อหลอมให้คนเกิดความรัก ความสามัคคีต่อกัน ประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยความเอื้ออาทร ต่อผู้อาวุโสกว่า และมีความอ่อนโยนต่อผู้ที่ด้อยกว่าทั้งด้านอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือสถานภาพทางสังคม

จริยธรรมมีส่วนในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทำให้มนุษย์รู้จักตนเองมากขึ้น จริยธรรมเป็นวิถีทางแห่งปัญญา มีส่วนช่วยในการสร้างสันติภาพในสังคมและโลก ช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีระเบียบ ทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่นและสังคมได้ จริยธรรมยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นหลักปฏิบัติทำให้มนุษย์มีความหนักแน่น ช่วยทำให้มนุษย์สามารถกำหนดเป้าหมายของชีวิตได้และช่วยให้มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้

สรุปได้ว่า ทั้งความหมายและความสำคัญของจริยธรรมเป็นแบบอย่างของความประพฤติปฏิบัติของบุคคลที่สังคมยอมรับว่าดีมีประโยชน์ และเมื่อบุคคลได้ประพฤติปฏิบัติแล้วย่อมยังประโยชน์สุขให้แก่ตนเองและสังคมโดยรวม

จะเห็นได้ว่า จริยธรรมมีความสำคัญทั้งในระดับชีวิตส่วนตน ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม เกิดความสงบความระลึกได้ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และระดับส่วนรวมซึ่งหมายถึงความสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคม การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมจะนำมาซึ่งสันติภาพในองค์การ ชุมชน สังคม รวมทั้งสร้างสันติภาพในโลก

ผู้มีจริยธรรมจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้ 

  1. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
  2. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
  3. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
  4. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
  5. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใดๆ ได้

แนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม

การพัฒนาจิตใจในลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ซึ่งผลที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ มีการเผยแผ่ธรรมะทางสื่อต่าง ๆ มากมาย วัดวาอารามก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมส่วนช่วยในการอบรมสั่งสอนด้วย จริยธรรมเป็นจริยสมบัติ หน่วยงานต่างๆ ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี คนไทยวัยหนุ่มสาวและเยาวชนได้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จากที่เห็นได้จากสื่อและข่าวต่าง ๆ เนื่องจากจริยธรรมเป็นคุณสมบุติที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการวัดคุณภาพของคน ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรทั้งประเทศ

  1. พัฒนาจิตใจประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ผู้นำแต่ละกลุ่มเป็นผู้บริหารเปลี่ยนแปลง
  2. ให้สถาบันของสังคมและครอบครัวทำหน้าที่อันถูกต้อง ชอบธรรมของตนเอง แก้ไขข้อบกพร่องโดยรีบด่วน
  3. บรรจุการพัฒนาจิตใจในหลักสูตร การฝึกอบรมทุกหลักสูตร และให้ดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  4. ให้มีการพัฒนาวิธีปลูกฝัง อบรม สั่งสอนศีลธรรม จริยธรรม ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมายให้เป็นที่น่าสนใจ
  5. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมของสังคมอันได้แก่ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้องดีงามตามหลักศีลธรรมและจริยธรรม

หลักจริยธรรมทั้งสองประการมีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่ว่า หากมีความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการ แต่ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดจากความรู้สึกเช่นนั้น คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการจะได้รับความเคารพ แต่จะไม่มีผู้ใดยอมให้เป็นนักการเมือง หากผู้นั้นไม่มีความรับผิดชอบ เพราะอาจใช้ความรุนแรงจากการมีอำนาจที่ชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ที่จะติดตามมา นักการเมืองลักษณะนี้ย่อมเป็นบุคคลอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน

ingaplife

ความรู้จริยธรรม